ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดลพบุรีตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 48 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 25 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางเหนือตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ประมาณ 155 กิโลเมตร หรือทางรถไฟสายเหนือประมาณ 133 กิโลเมตร มีพื้นที่ 6,586.67 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,116,668 ไร่
ภูมิประเทศ
จังหวัดลพบุรี มีพื้นที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำ 3 ส่วน ดังนี้
- ลุ่มแม่น้ำชี
- ลุ่มแม่น้ำป่าสัก
- ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ภูมิประเทศของจังหวัดลพบุรี แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
- ที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ 1,170 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ของอำเภอท่าวุ้งทั้งหมด ตอนกลางและตะวันตกของอำเภอเมืองลพบุรี ตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโคกสำโรง และส่วนใหญ่ของอำเภอบ้านหมี่ พื้นที่ราบตอนกลางของอำเภอเมืองลพบุรี บริเวณหมู่บ้านสะพานอิฐและหมู่บ้านหินสองก้อนจะมีดินสีขาวที่สามารถนำมาทำดินสอพองได้ และดินสอพองของจังหวัดลพบุรีได้ชื่อว่าเป็นดินสอพองที่ดีที่สุดของเมืองไทย
- ที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา มีเนื้อที่ 4,816.67 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านหมี่บางส่วน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกของอำเภอโคกสำโรงและอำเภอท่าหลวง
มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำป่าสัก โดยมีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อกักเก็บน้ำ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวจังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังมี แม่น้ำลพบุรีผ่านทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดด้วย รวมทั้งมีระบบคลองชลประทานที่เป็นประโยชน์ในทางเกษตรกรรมอีกด้วย
ภูมิอากาศ
สภาพโดยทั่วไปมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันและพายุไต้ฝุ่นอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน มีอุณหภูมิเฉลี่ย 28.3 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละประมาณ 1,147.6 มิลลิเมตร สำหรับมีฤดูกาลต่าง ๆ มี 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคม อากาศจะร้อน และแห้งแล้ง
- ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม อากาศจะชุ่มชื้นในเดือนกันยายน
- ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นสลับกับอากาศร้อน
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดลพบุรีเคยปกคลุมด้วยป่าไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นป่าดิบแล้งผืนใหญ่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ป่าเบญจพรรณ และป่าแดง หรือป่าเต็งรังในเขตเชิงเขา ทรัพยากรป่าไม้ในจังหวัดลพบุรีนับว่ามีสภาพเสื่อมโทรม และปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ของจังหวัด มีการสำรวจทรัพยากรป่าไม้โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมปี พ.ศ. 2525 พบว่าสภาพป่าไม้มีเนื้อที่ร้อยละ 4.69 ของเนื้อที่จังหวัด ต่างกับภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2504 ซึ่งมีเนื้อที่ป่าร้อยละ 33.95 จะเห็นว่าในช่วงเวลา 21 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ลดลงร้อยละ 29.26 และมีสภาพเป็นป่าที่ถูกทำลายใน 2528 จังหวัดลพบุรีมีเนื้อที่ป่าไม้ 174,375 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 4.50 ของเนื้อที่จังหวัด และในปี 2540 มีการสำรวจพบว่าพื้นที่ป่าได้ถูกบุกรุกทำลายไป จนเหลือป่าที่สมบูรณ์เพียง 123,125 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 3.18 ของพื้นที่จังหวัดจากการที่ป่าไม้ในจังหวัดมีสภาพลดลง กรมป่าไม้จึงได้อนุรักษ์ป่าที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ไว้ ปัจจุบันมีป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี 4 แห่ง รวมเนื้อที่ 1,110,108.25 ไร่ (1,776.17 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ได้แก่ ป่าซับลังกา ป่าวังเพลิง ป่าชัยบาดาล และป่าเขาเพนียด
ป่าสงวนแห่งชาติในจังหวัดลพบุรี ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าซับลังกา มีพื้นที่ (248,987.50 ไร่), ป่าสงวนแห่งชาติป่าวังเพลิงม่วงค่อมลำนารายณ์ มีพื้นที่ 447,081.25 ไร่, ป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยบาดาล มีพื้นที่ 396,562.50 ไร่, และป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเพนียด มีพื้นที่ 17,477 ไร่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในจังหวัดลพบุรี ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์
ในด้านทรัพยากรน้ำ จังหวัดลพบุรีนับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากการที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชท่านทรงเป็นผู้สร้างเมืองลพบุรีและได้มีการนำท่อดินเผาสูบน้ำจาก “อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก” มาใช้ในกิจการต่าง ๆ ภายในวังนารายณ์ราชนิเวศน์ และในปัจจุบันได้มีการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่มีการปล่อยน้ำไปสู่แหล่งการเกษตรและอุตสาหกรรม การอนุรักษ์น้ำของคลองชลประธาน แม่น้ำและคลองที่สำคัญ เช่น แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางขาม และคลองอนุศาสนนันท์